ITC ตอนที่ 2
เส้นทางการพัฒนานวัตกรรมสู่โลกการค้า กับช่องว่างหายไป (Missing Link)
เส้นทางการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ เริ่มต้นจากงานการหาโจทย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม นำมาพัฒนาต่อเป็นงานต้นแบบ (Prototype) ผ่านกระบวนการออกแบบ ทั้งการออกแบบงานเชิงสร้างสรรค์ (Creative Design) การออกแบบตามการใช้งาน (Functional Design) การคัดเลือกวัสดุ (Material Selection) การออกแบบกระบวนการผลิตหรือการขึ้นรูปเบื้องต้น (Process Design) จนถึงการขึ้นรูปงานต้นแบบ ซึ่งต้องมีการทำทดสอบการใช้งานเบื้องต้น(Simulation / Basic Validation)
โดยมุ่งผลเชิงพาณิชย์ โดยปกติเราจึงทำการประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาดเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตามการประเมินความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์นี้ ไม่ได้เป็นเครื่องตัดสินการพัฒนางานวิจัย แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในการพัฒนาพร้อมเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนธุรกิจ (Business Model) ในอนาคต เนื่องจากงานนวัตกรรมบางอย่างเป็นสิ่งใหม่ ยังไม่มีในตลาด การประเมินการตลาดจึงเป็นเรื่องยาก การนำเอาความเป็นไปได้ในเชิงการตลาดมาตัดสินแต่ต้น อาจเป็นการตัดโอกาสสร้างสรรค์งานก็เป็นได้
จากต้นแบบ ที่ได้หากผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะเข้าสู่กระบวนการขยายงานสู่การผลิตเบื้องต้น (Scale Up) ซึ่งเริ่มตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และการหาผู้ประกอบการที่จะสนับสนุนการขยายผลการผลิต และการเริ่มทดลองผลิตเชิงอุตสาหกรรม (Pilot Scale/ Small Scale Production) มีการทำทดสอบการใช้งานจริง (Validation Test) และการทำสอบตามมาตรฐานต่างๆ (Standard) ที่เกี่ยวข้อง และทดลองทำตลาด (Market Test ) ซึ่งตลอดการทำงานในช่วงนี้ควรมีการพัฒนาแผนธุรกิจ (Business Model) ด้วย ซึ่งหลายกรณี นวัตกรรมดี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากโมเดลทางธุรกิจไม่ดีพอ หากผลการทดลองตลาดเป็นที่น่าพอใจ ผลิตภัณฑ์ก็พร้อมเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มรูปแบบ มีการวางแผนการผลิต การตลาดเชิงพาณิชย์ และขั้นตอนต่อไปก็เป็นไปตามการดำเนินงานของธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านการผลิต เราเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เรามีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หากเราเชื่อมโยงงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเข้าสู่ขั้นตอนนี้แล้ว การนำ “หิ้งสู่ห้าง” ก็ไม่ไกลเกินฝัน และยิ่งถ้ามีแผนธุรกิจการตลาดและแนวทางการตลาดที่ดีการประสบความเร็จทางธุรกิจก็มีโอกาสสูง “ห้าง” ที่เราจะนำหิ้งลงมา ก็อาจเป็น “ห้าง” ชั้นนำระดับสากลก็เป็นได้
สภาพความเป็นจริงในที่เรากำลังประสบปัญหา ไม่สามารถนำ “หิ้ง” สู่ “ห้าง” ได้ เนื่องจากมีช่องว่างใหญ่ 2 ส่วน (Missing Link) ทำให้การเชื่อมโยงไม่เกิด ขึ้น
Missing Link 1: ระหว่าง “โจทย์วิจัย” กับการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม ในส่วนนี้ไม่มีใครผิดใครถูก แต่ประเด็นที่เกิดขึ้น เกิดจากระบบหรือเส้นงานการพัฒนาของอุตสาหกรรมบ้านเราที่ผ่านมา ไม่ได้พึ่งพิงงานวิจัยหรือการพัฒนาในประเทศ เป็นที่ยอมรับกันดีว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่หรืออาจกล่าวว่า เกือบทั้งหมด เราอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิต (OEM) เราไม่จำเป็นต้องทำการวิจัย ออกแบบหรือพัฒนานวัตกรรมเราเอง เราผลิตตามแบบที่ลูกค้าส่งให้ ดังนั้นบริษัทส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจึงไม่จำเป็นต้องไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร หรือกำลังความสามารถในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ เช่นการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการทำ R&D เพราะ ไม่ต้องคิด “โจทย์วิจัย” หรือ “นวัตกรรม” ของตนนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถึงปัจจุบันที่บริษัทอยากทำงานเชิงนวัตกรรม ก็ติดปัญหาเนื่องจากขาดประสบการณ์ ขาดกำลังความสามารถในองค์กร ในการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมนี้ และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลพื้นฐานสำคัญอันหนึ่งที่ทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กับการดำเนินงานของภาคเอกชนเป็นเส้นขนานยังไม่มีโอกาสได้ร่วมทางกันมากนัก
Missing Link 2: คือ “Scale Up Facility” เป็นช่องว่าง ระหว่างการนำงานต้นแบบสู่การผลิตเชิงพาณิขย์ ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจำนวนมากที่เส้นทางมาสุดตรงงานต้นแบบหรือ Prototype มีเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่จะทะลุเส้นทางจนไปสู่การค้าได้ ทั้งนี้เนื่องจากเรายังขาด Platform ที่จะสนับสนุนการ Scale Up งานต้นแบบไปสู่การทำงานเชิงอุตสาหกรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการ Scale Up ระบบบริหารจัดการ และระบบสนับสนุนการ Scale Up งานวิจัย
จากนโยบายประเทศที่ผลักดันการนำ “หิ้งสู่ห้าง” ทำให้ทุกฝ่ายพยายามอย่างมาก รวมถึงตัวนักวิจัยเอง แต่อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงการขยายผลงานวิจัยลงสู่ภาคอุตสาหกรรมแต่ละขั้นตอน จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์ด้านต่างๆ มาประกอบอย่างมาก เช่นการออกแบบการผลิตให้เหมาะสมกับขนาดการผลิต งบประมาณ การบริหารงานและการสร้างความยืดหยุ่นในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อการปรับปรุงงานที่อาจต้องมีการปรับแก้ตลอดการทำงาน ฯลฯ ซึ่งการให้นักวิจัยหรือนักนวัตกรรมดำเนินการเองทั้งหมดเป็นเรื่องที่เป็นภาระกับนักวิจัยมาก และหลายกรณีการดำเนินงานในขั้นตอนนี้ ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยนั้นๆ ทำให้นักวิจัยเสีย Focus กับงานที่เชี่ยวชาญ และต้องมาทำงานที่ตนขาดความเชี่ยวชาญ
จากประสบการณ์มีหลายกรณีที่นักวิจัยและพัฒนาพยายามขยายงานของตนโดยร่วมหารือกับเอกชนที่คิดว่าจะช่วยในการดำเนินงานในขั้น Scale up หลายโครงการก็ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ก็อีกจำนวนมาก และน่าจะมากกว่า ที่ไม่ไปถึงฝัน หรือมีหลายกรณีที่ภาคเอกชนซื้องานวิจัยไปแต่ไม่สามารถต่อยอดเชิงการค้าได้สำเร็จ ทั้งนี้เหตุผลการมาจากพื้นฐานของผู้ประกอบการผลิตของเราส่วนใหญ่เป็น OEM ขาดประสบการณ์ในการทำงานเชิงวิจัยและพัฒนา ทั้งเรื่องกระบวนการทำงานวิจัย การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยในสาขาต่างๆ ระหว่างภาคเอกชนกับนักวิจัย รวมถึงระหว่างเอกชนกับเอกชนที่เป็นแนวร่วมในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ อุปทาน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรามีประสบการณ์ด้านนี้น้อยมาก นับเป็นเรื่องใหม่ของการดำเนินธุรกิจของประเทศ
แม้กระบวนการนำ “หิ้งสู่ห้าง” ดูจะมีการบ้านใหญ่หลายข้อที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ได้หมายความการแก้ปัญหาเป็นไปไม่ได้หากมองภาพรวมในระบบ เราต้องยอมรับว่าเราสิ่งที่ตอนนี้ทุกฝ่ายในประเทศเห็นตรงกันคือกัน คือการนำ “หิ้งสู่ห้าง” เป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกันแก้ไข เพื่อนำประเทศไทยสู่อนาคต หากสรุปและมองโจทย์ให้ง่าย เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน สิ่งที่เราขาดไปก็คือ “Platform” สำหรับการเชื่อมโยง “ประสบการณ์” การเชื่อมหิ้งสู่ห้างของทั้งภาคเอกชนและภาควิจัยเท่านั้น
เพื่อตอบโจทย์การบ้านดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงร่วมมือกันจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต” หรือ “Industry Transformation Center: ITC” เพื่อเป็น “Platform” ที่จะมาช่วยตอบโจทย์การบ้านที่อยู่กับเรามานาน
ติดตาม ITC สู่การปฏิวัติเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมไทย ในตอนต่อไป
เพิ่มเติมกับศูนย์ ITC
Website : www.itc.or.th
Facebook : ITC Industry Transformation Center – ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต
Youtube Official : ITC Industry Transformation Center
Line Official Account : @114qmusj http://nav.cx/dmbXjPH
Tel.02-058-4988,02-391-5340-43,1358